ดูแลน้องแมวอย่างไร ให้ห่างไกลจากโรคไต แมวเป็นโรคไต
ไตแมวมีความสำคัญอย่างมากต่อการรักษาสุขภาพโดยรวมของน้องแมวให้แข็งแรง โดยการช่วยกรองของเสียจากกระบวนการเผาผลาญออกจากเลือดเพื่อขับออกทางปัสสาวะ ช่วยรักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย และแร่ธาตุเช่น โซเดียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส และแคลเซียม เป็นต้น นอกจากนี้ยังช่วยผลิตฮอร์โมนที่สำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดงจากไขกระดูก และ ยังสร้างสารและเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ควบคุมความดันโลหิตอีกด้วย
ภาวะไตวายของแมว
คือภาวะที่ไตสูญเสียความสามารถในการกรองของเสียออกจากเลือดและขับออกผ่านปัสสาวะ จึงเกิดสิ่งตกค้างสะสมในร่างกาย เสียสมดุลของน้ำและแร่ธาตุต่างๆในร่างกาย ส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมน ระบบทางเดินอาหาร ระบบหัวใจและหลอดเลือดตามมา อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นที่ไต จะทำให้มีฟอสฟอรัสสะสมอยู่ในกระแสเลือดมากขึ้น จึงควรเลือกอาหารให้เหมาะสม มีฟอสฟอรัสต่ำ เพื่อชะลอความรุนแรงของโรค และให้แมวมีอายุที่ยืนยาวขึ้น
ไตวาย มีอยู่ 2 ประเภท คือ ไตวายเฉียบพลัน และ ไตวายเรื้อรัง ซึ่งมีสาเหตุ อาการ และการดูแลรักษาที่แตกต่างกัน
ไตวายเฉียบพลัน
คือการที่ไตหยุดทำหน้าที่อย่างกระทันหัน มักแสดงอาการชัดในช่วงเวลา 1-4 สัปดาห์ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง สามารถเกิดได้กับแมวทุกช่วงอายุ
มีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงในร่างกายอย่างรวดเร็ว เช่น
- เสียน้ำอย่างรวดเร็วจากการถ่ายเหลว หรือ การอาเจียนจำนวนมาก
- เสียเลือดมาก ช็อก
- ความดันต่ำหรือสูงขึ้นกระทันหัน
- เครียดจากการผ่าตัด
- ได้รับสารพิษปริมาณมาก หรือ สารพิษที่มีผลโดยตรงต่อไต
- บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ บริเวณไตถูกกระแทก
- เกิดนิ่วในไต
- เกิดการติดเชื้อในไต
- โรคติดเชื้อบางโรค เช่น Leptospirosis
อาการที่พบบ่อย
- ปัสสาวะลดลง หรือ ไม่ปัสสาวะเลยใน 48 ชั่วโมง
- อาเจียน
- เซื่องซึม ไม่มีแรง
- ไม่กินอาหาร
ภาวะไตวายเฉียบพลัน มีโอกาสทำให้เสียชีวิตได้ แต่หากได้รับการรักษาทันท่วงที และสามารถควบคุมอาการของโรคได้ ก็มีโอกาสสูงที่ไตจะกลับมาทำงานได้ปกติ แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังและหาสาเหตุ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรังต่อไปในอนาคต
ไตวายเรื้อรัง
ส่วนมากพบในแมวอายุมาก และมีอาการคงอยู่นานกว่า เนื่องจากไตมีไส้กรองอยู่หลายพันหน่วย เมื่ออายุมากขึ้น หน่วยกรองเหล่านี้ก็จะเสื่อมลงตามอายุ แต่ถึงแม้ว่าหน่วยกรองบางส่วนจะเสียหายไป ส่วนที่เหลือก็ยังสามารถทำงานได้ปกติ ทำให้ส่วนมากแล้วกว่าจะแสดงอาการ หรือตรวจเลือดเจอว่าค่าไตขึ้น ไตอาจเสียหายไปแล้วเกิน 75% หรือกว่า 2 ใน 3 ของเนื้อไต โอกาสในการเกิดโรคไตเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าในแมวที่อายุมากกว่า 10-15 ปี โดยเฉพาะแมวที่อายุมากกว่า 15 ปี มีแนวโน้มป่วยด้วยโรคนี้กว่า 30% เจ้าของควรพาแมวที่อายุ 7 ปีขึ้นไป ไปตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี ทั้งตรวจสุขภาพและตรวจปัสสาวะเพื่อหาค่าโปรตีนในปัสสาวะด้วย หากมีความผิดปกติ เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะได้รับการดูแลตั้งแต่เนิ่นๆ
มีโอกาสเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- ระบบร่างกายเสื่อมตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะมากกว่า 7 ปี
- การอุดตันในระบบทางเดินปัสสาวะ การไหลเวียนของเลือดหรือปัสสาวะไปที่ไตลดลง
- พันธุกรรม ในแมว Maine Coon , Abyssinian , Siamese , Russian Blue, Burmese, Persian และ Angora เป็นต้น
- ความดันโลหิตสูง
- โรคมะเร็ง
- โรคเบาหวาน
- โรคทางทันตกรรมขั้นสูง
- กลืนกินสารพิษเข้าร่างกาย เช่น ยาฆ่าแมลง น้ำยาทำความสะอาด ฟีนอล ยาบางชนิด สารป้องกันการแข็งตัวของน้ำ
- เคยเป็นไตวายเฉียบพลันแต่ไม่สามารถคืนสภาพกลับมาเป็นปกติได้
- อาหารที่มีฟอสฟอรัสหรือโปรตีนสูง
อาการที่พบบ่อย
- กินน้ำมากขึ้น
- ปัสสาวะมากขึ้น มีเลือดปน หรือไม่ปัสสาวะเลย
- น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ขนไม่เป็นมันเงา
- อ่อนเพลีย ง่วงซึม
- ท้องผูก หรือ ท้องเสีย
- เบื่ออาหาร
- เหงือกซีด มีแผลในช่องปาก มีกลิ่นปาก (มักเป็นกลิ่นแอมโมเนีย)
- เท้าซีดเหลือง
- ตาบอดเฉียบพลัน
- ชัก หมดสติ
ภาวะไตวายเรื้อรัง เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถดูแลรักษาตามอาการและพยุงอาการให้น้องแมวใช้ชีวิตต่อไปได้อีกนาน
การป้องกัน ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไต
- จัดให้น้องแมวเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดได้ตลอดเวลา กระตุ้นให้แมวดื่มน้ำเยอะๆด้วยน้ำพุแมว วางชามใส่น้ำไว้ตามจุดต่างๆ เปลี่ยนน้ำเป็นประจำ และไม่วางใกล้กระบะทราย
- เลือกอาหารที่ไม่เค็มจนเกินไป
- เลี้ยงแมวระบบปิด เพื่อลดโอกาสรับสารเคมี หรือสารปนเปื้อนเข้าร่างกาย
- พาน้องแมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เมื่ออายุเกิน 7 ปี ควรได้รับการตรวจสุขภาพสำหรับแมวสูงอายุ เป็นประจำทุกปี
วิธีการวินิจฉัยโรค
- ตรวจเลือด
- ตรวจปัสสาวะ
- วัดความดันเลือด
- ตรวจค่า blood gas
- X-ray
- Ultrasound
- CT scan
การดูแลแมวที่ป่วยเป็นโรคไต
- พยายามไม่ให้น้องแมวเกิดความเครียด
- รักษาระดับน้ำในร่างกาย จัดให้แมวมีน้ำดื่มสะอาดตลอดเวลา
- สังเกตอาการและจดบันทึกความเปลี่ยนแปลงให้สัตวแพทย์ทราบ
- หากแมวเบื่ออาหาร ไม่ขับถ่าย อาจเกิดจากแก๊สในกระเพาะอาหาร สัตวแพทย์สามารถช่วยฉีดยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ให้ยาลดการอาเจียน ยาบำรุงเลือด สวนขับถ่าย หรือให้น้ำเกลือผ่านทางเส้นเลือด
- ปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อเลือกอาหารที่ดีที่สุดสำหรับสุขภาพไต และคำนวณแคลอรี่ที่ควรได้รับต่อวัน โดยการประเมิณคะแนนร่างกาย และวัดปริมาณมวลกล้ามเนื้อประกอบ เพื่อไม่ให้แมวขาดโปรตีน หรือได้รับโปรตีนมากเกินไป
- เลือกอาหารสูตรสำหรับโรคไตโดยเฉพาะ จำกัดปริมาณโปรตีน และฟอสฟอรัส
- เพิ่มความน่ากินของอาหาร เช่น เปลี่ยนเป็นอาหารชนิดเปียก อุ่นอาหารก่อนให้แมวกิน ให้อาหารบ่อยมื้อมากขึ้น หรือ เพิ่มไขมันลงในอาหารเพื่อเพิ่มปริมาณพลังงาน
- พาไปพบสัตวแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการแย่ลงควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์ทันที
ความสำคัญของอาหารสำหรับโรคไตโดยเฉพาะ
- ปริมาณโปรตีนที่ต่ำกว่าอาหารสูตรทั่วไป ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงไตได้ดีขึ้น ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน
- โซเดียมและฟอสฟอรัสต่ำ ชะลอความเสียหายของไต
- ปรับสมดุล น้ำ เกลือแร่ และความเป็นกรด-ด่างของร่างกาย
- เสริมวิตามินที่จำเป็น ให้แมวป่วยได้รับสารอาหารและพลังงานที่ครบถ้วน
การดูแลแมวป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังเพื่อให้มีประสิทธิภาพ ชะลอความรุนแรงของโรค และยืดอายุสัตว์เลี้ยงที่เรารัก นอกจากการเลือกอาหารที่เหมาะสม สิ่งสำคัญที่สุดคือการรับการรักษาและเฝ้าติดตามอาการโดยสัตวแพทย์อย่างใกล้ชิด
ผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับแมว